เมื่อถึงเวลาเหมาะสมของคู่รักที่คบหากันมานาน ก็ได้เวลาเข้าพิธีแต่งงานกันเสียที แต่ละพื้นที่ตามประเพณีก็จะมีแบบแผนแตกต่างกันออกไป และเพื่อให้สืบทอดกันตามธรรมเนียมจึงต้องยังคงประเพณีของแต่ละท้องถิ่นไว้ ตามความเชื่อของแต่ละภาค อย่างภาคเหนือ ก็มีการแต่งงานของชาวล้านนาแตกต่างกันออกไปจากภาคอื่น
การเตรียมตัวของฝ่ายหญิงและฝ่ายชายก่อนเข้าพิธีการแต่งงานของชาวล้านนา
เริ่มแรกคือบ้าน ทางฝ่ายหญิงจะต้องมีการจัดบ้านเรือนให้สะอาด เป็นระเบียบ มีการประดับด้วยดอกไม้และต้นไม้ เพื่อรอต้อนรับฝ่ายชาย และยังต้องเตรียมห้องหอ พวกหมอน ที่นอน มุ้ง ทุกอย่างเป็นของใหม่ทุกชิ้น และมีการอบห้องหอให้หอมตามการแต่งงานของชาวล้านนา
ส่วนฝ่ายชายเองต้องเตรียมขบวนแห่ขันหมาก ซึ่งจะประกอบไปด้วย หีบผ้าใหม่ ดาบ ขันหมาก ขันไหว้ ถุงย่าม ต้นกล้วย ต้นอ้อย อย่างละ 1 คู่ และก็ยังมีขันสินสอดและขันคู่ด้วย ขบวนขันหมากฝ่ายชายจะต้องแห่ไปยังบ้านของฝ่ายหญิง โดยใช้เวลาการดูฤกษ์ด้วย ส่วนใหญ่จะใช้เวลาเริ่มที่ 09.09 น.
ก่อนเข้าการแต่งงานของชาวล้านนา
การแต่งงานของชาวล้านนาจะต้องมีการสู่ขอฝ่ายชายก่อน โดยเรียกพิธีนี้ว่า “ขอเขย” ในเช้าของวันแต่งงานก่อนจะเริ่มพิธีแห่ขันหมาก ทางฝ่ายหญิงจะต้องเตรียมพานขันดอกไม้ ธูป เทียน ไปพูดขอทางพ่อแม่ของฝ่ายชาย ด้วยถ้อยคำที่เป็นมงคลเพื่อเชิญให้ฝ่ายชายแห่ขันหมากไปขอฝ่ายหญิง
การแห่ขันหมาก
เมื่อถึงฤกษ์ยามอันดีแล้ว ทางฝ่ายชายก็เริ่มแห่ขบวนขันหมากไปยังบ้านของฝ่ายหญิง โดยจะมีขันดอกไม้ บายศรีแห่นำหน้าขบวน และฝ่ายชายจะสะพายดาบเพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นชายชาตรี และเมื่อมาถึงบ้านของฝ่ายหญิงแล้ว ฝ่ายหญิงจะออกมายืนรอฝ่ายชาย แต่ก่อนจะทั้งสองจะได้พบกัน จะต้องผ่านประตูเงินประตูทอง ซึ่งมีการทดสอบไม่ว่าจะเป็นคำถามหรือเล่นเกมพร้อมกับแจกซองเพื่อเป็นของกำนันให้แก่ผู้ถือประตูเงินประตูทอง
เรียกขวัญแต่งงาน
หรือการผูกข้อมือบ่าวสาว เป็นการสร้างกำลังใจและเตือนสติว่าสถานะต่อไปนี้จะเป็นสามีภรรยากันแล้ว จะต้องปฏิบัติต่อกันด้วยความซื่อสัตย์และเคารพแก่กันและกัน พิธีกรรมนี้จะให้พ่อปู่อาจารย์ที่ทุกคนเคารพนับถือเป็นคนเรียกขวัญและผูกฝ้ายคล้องหัวให้แก่คู่บ่าวสาวก่อนจะทำพิธีผูกข้อมือ โดยใช้ฝ้ายดิบให้ผู้ใหญ่และแขกที่มาร่วมงาน ผูกข้อมือบ่าวสาวพร้อมกับคำอวยพร
การส่งตัวเข้าหอ
หลังจากเสร็จสิ้นพิธีผูกข้อมือแล้ว เมื่อถึงเวลาส่งตัวเข้าหอ การแต่งงานของชาวล้านนานั้นฝ่ายผู้ใหญ่ทางเจ้าสาวและเจ้าบ่าวก็จูงมือนำตัวคู่บ่าวสาวเข้าห้องหอ พร้อมกับนำบายศรี และพานขันนำหน้า เมื่อถึงเตียง ก็ให้คู่แต่งงานที่แต่งงานเพียงครั้งเดียว นอนลงบนเตียงเป็นตัวอย่างให้ก่อน แล้วจึงให้คู่บ่าวสาวลงนอนบนเตียงเป็นพิธีตาม และให้โอวาสในการครองเรือน
สำหรับการแต่งงานของชาวล้านนาในปัจจุบันนี้ เริ่มจะปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย หรือแบบผสมกันแล้ว แถมยังเพิ่มเติมงานเลี้ยงตอนค่ำ จัดเวที เพื่อให้คู่บ่าวสาวมาทักทายแขกและมีการสัมภาษณ์ถึงประวัติความรัก พิธีฉบับล้านนานี้อาจจะไม่ค่อยมีให้เห็นกันแล้ว แต่ในบางพื้นที่ก็ยังคงประเพณีฉบับล้านนาไว้อยู่บ้าง นั่นก็เป็นความเชื่อที่สืบทอดกันมาที่ว่าเพื่อให้ขวัญของคู่บ่าวสาวไม่หนีจากกันไปไหนและรักกันตลอดไป
เครดิตภาพ : weddinginlove.com / kapook.com / pantip.com
#การแต่งงานของชาวล้านนา #พีธีแต่งงานล้านนา #ธีมงานแต่ง